เมื่อพูดถึงวัดในเกาะบาหลี (Bali) วัดแรกที่พลาดไม่ได้เลยคงต้องเป็นที่นี่ วัดเบซากิห์ (Besakih) วัดหลวงฮินดูซึ่งถือว่าเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในเกาะ ชาวบาหลีมักจะทำพิธีทางศาสนา ทำให้เห็นถึงธรรมเนียม ประเพณีที่เป็นตำนานสืบทอดกันมายาวนาน
วัดเบซากิห์ (Besakih) แห่งนี้ตั้งอยู่เชิงภูเขาอกุง (Mount Agung) ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของเกาะ ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านเบซากิฮ์ เชิงเขาอากุง เขตเมืองการังกาเซ็ม ทางตะวันออกของเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จัดเป็นวัดในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุด ศักดิ์สิทธิ์เหนือวัดทั้งปวง บริเวณวัดกว้างใหญ่ไพศาล ประกอบด้วยวัดเล็กๆ อีก 23 แห่ง เรียงรายอยู่เป็นขั้นกว่า 7 ขั้นไปตามไหล่เขา มีฉากหลังคือภูเขาไฟกุนุงอากุง เป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดของเกาะบาหลี
วัดเบซากิห์ (Besakih) สร้างขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 8 กันว่าเป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยวัดจากอายุของหินแล้วอาจเก่าถึง 2,000 ปี ว่ากันว่าชื่อของวัดมาจากคำว่า Basuki ที่มาจากคำว่า Wasuki หรือ Vasuki ในภาษาสันสกฤต ซึ่งก็หมายถึง “พญานาควาสุกรี” ที่อยู่ในตำนานศาสนาฮินดูตอนเกษียรสมุทรนั่นเอง แต่ความหมายในภาษาชวานั้นหมายความว่า “ปลอดภัย” (safety) วัดแห่งนี้โดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบฮินดู-บาหลี ทั้งโบสถ์ วิหาร ศาลา และรูปปั้นทวยเทพต่างๆ ภายในประกอบด้วยวัดเล็กวัดน้อยจำนวนมาก วัดที่มีความสำคัญที่สุดในปุราเบซากิห์ คือปุราเปนาทารัน อากุง (Pura Penataraa Aguan) เชื่อกันว่าที่นี่เป็นที่ประทับขององค์ไตรภูวนาถ ผู้เป็นใหญ่ในสามโลก คือสวรรค์ มนุษย์ และบาดาล อยู่ตรงกลางเป็นไฮไลท์ ในช่วงประมาณ 7-8 โมงของวันที่ฟ้าเป็นใจ สามารถมองเห็นวัดเบซากิห์ตั้งตระหง่านโดดเด่นท่ามกลางฉากหลังของภูเขาไฟกุนุง อากุง อันงดงาม และที่นี่มีวิหารบูชาพระพรหม, พระนารายณ์ และพระศิวะ เทพเจ้าแห่งฮินดู ได้สักการะบูชาขอพรเหล่าเทพยดาเพื่อความเป็นสิริมงคลปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายอีกด้วย
ในทุกๆวันจะมีชาวบาหลีเดินทางมาประกอบพิธีทางศาสนา สามารถเห็นธรรมเนียมประเพณีและการแต่งกายแบบพื้นเมืองทั้งชายและหญิง รวมทั้งการแบกทูนของบูชาบนศีรษะตามแบบดั้งเดิมด้วย ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี วัดจะจัดพิธีทางศาสนาที่สำคัญ คือ พิธี บาคารา ตูรุน กาเบะห์ ซึ่งแปลว่า ทวยเทพเสด็จมาพร้อมเพรียงกัน ผู้คนจะหลั่งใหลมาจากทั่วบาหลี นำของเซ่นไหว้มาสักการะบูชา ใส่พานเทินบนศีรษะ ประกอบด้วยผลไม้ประจำถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เช่น แอปเปิ้ล ชมพู่ กล้วยรวมกับขนมและดอกไม้ ตกแต่งด้วยใบมะพร้าวและใบกล้วยสานเป็นรูปทรงต่างๆอย่างงดงาม
สำหรับขนมนั้นก็เป็นขนมซึ่งทำเป็นพิเศษ มีหลายชนิดที่คล้ายกับขนมทางปักษ์ใต้บ้านเราใช้ทำบุญเดือนสิบ เช่น ขนมท่อนใต้ ขนมลา ข้าวพอง ถั่วตัด งาตัด ซึ่งล้วนมีความหมาย การแต่งกายในชุดท้องถิ่นชาวบ้านนั้นเครื่องแต่งกายสีสันสดใสทั้งชายและหญิง ประดับประดาเนื้อตัวด้วยเครื่องประดับ มีการบรรเลงเครื่องดนตรีจังหวะไพเราะ ดูแปลกหู แต่ช่างเข้ากับบรรยากาศของงานเฉลิมฉลองที่มีความสนุกสนาน กึ่งๆพิธีการอยู่ไม่น้อย ไม่ควรพลาดที่จะเก็บภาพบรรยากาศที่สุดแสนจะพิเศษนี้มาเป็นที่ระลึก
การแต่งกายเข้าวัดที่บาหลีนั้นต้องนุ่งโสร่ง เฉกเช่นเดียวกับวัดในเกาะบาหลีทุกแห่ง ถ้าไม่ได้เตรียมมาทางวัดมีบริการให้เช่า เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00-18.00 น. ค่าเข้าชมอยู่ที่ 60,000 IDR